07 พ.ค. Privacy Maturity Model (PMM) เครื่องมือวัดระดับองค์กรสู่การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างยั่งยืน
ในยุคที่ข้อมูลส่วนบุคคลกลายเป็น “สินทรัพย์” ที่มีมูลค่าสูง ความสามารถขององค์กรในการบริหารจัดการและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเป็นระบบจึงกลายเป็นข้อได้เปรียบเชิงการแข่งขัน และการตอบสนองต่อการปฏิบัติตามกฎหมายที่สำคัญ จึงเกิดโมเดลที่ชื่อว่า “Privacy Maturity Model (PMM)” ที่หลายองค์กรทั่วโลกใช้เพื่อประเมิน และพัฒนาความพร้อมด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้สอดคล้องกับกฎหมายและแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด
PMM คืออะไร?
Privacy Maturity Model (PMM) คือ เครื่องมือที่ช่วยให้องค์กรสามารถประเมิน “ระดับวุฒิภาวะ” หรือ maturity level ในการบริหารจัดการข้อมูลส่วนบุคคล ผ่านเกณฑ์ที่ครอบคลุมหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการ ความเสี่ยง การควบคุมภายใน ความโปร่งใส การมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง และไม่เพียงเป็นเครื่องมือสำหรับการประเมินตนเอง (self-assessment) เท่านั้น แต่ยังเป็นแนวทางการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งองค์กรสามารถนำไปใช้กำหนดเป้าหมายและจัดลำดับความสำคัญในการยกระดับการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้อีกด้วย
ต้นแบบของ PMM นั้นอ้างอิงมาจากโมเดลที่ทั่วโลกให้การยอมรับอย่าง CMMI (Capability Maturity Model Integration) ซึ่งพัฒนาโดย Software Engineering Institute (SEI) จากมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเริ่มจากการประเมินความสามารถด้านกระบวนการในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และต่อยอดมาสู่หลายสาขา รวมถึง “การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” ต่อมา แนวคิดนี้ได้รับการขยายผลและปรับใช้โดยองค์กรต่าง ๆ เช่น CIPL (Centre for Information Policy Leadership) ที่เป็นองค์กรด้านความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยระดับโลก หรือแม้แต่องค์กรส่งเสริมธรรมาภิบาลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอย่าง ISACA (Information Systems Audit and Control Association) ก็ได้นำ PMM มาปรับใช้กับการประเมินความพร้อมด้าน Privacy ขององค์กรยุคใหม่ โดยแนวทางการวัดระดับของ PMM แบ่งออกเป็น 5 ระดับแต่ละระดับแสดงถึงความพร้อมขององค์กรในมิติต่าง ๆ
PMM กับประเทศไทย
ด้วยเหตุนี้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPC) จึงได้พัฒนา Self-Assessment Tool เพื่อให้องค์กรไทยสามารถประเมินระดับความพร้อมของตนเองในด้านต่าง ๆ โดยอิงจากแนวคิดของ PMM ซึ่งครอบคลุม 10 หมวดหมู่ ภายใต้ “โครงการการประเมินระดับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล Privacy Maturity Model” เพื่อให้การปฏิบัติงานขององค์กรมีความสอดรับกับการบังคับใช้ “พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562” หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า “กฎหมาย PDPA” ซึ่งองค์กรต่าง ๆ ต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างเป็นรูปธรรมต่อการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าและพนักงาน
โดยจากรายงานสรุปของโครงการนั้นแสดงให้เห็นถึงผลการประเมินในปี 2024 ที่ผ่านมา พบว่าองค์กรในประเทศไทยมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2.72 จาก 5 ซึ่งสะท้อนว่าองค์กรไทยยังอยู่ในช่วงของการสร้างรากฐาน และต้องการการพัฒนาในเชิงระบบและวัฒนธรรมองค์กรอย่างต่อเนื่อง
Privacy Maturity Model (PMM) ไม่ใช่เพียงแค่เครื่องมือเชิงเทคนิค แต่เป็น “แนวทางกลยุทธ์” ที่ช่วยให้องค์กรสามารถ “ประเมินตัวเอง” และ “พัฒนาอย่างมีทิศทาง” ในการบริหารจัดการข้อมูลส่วนบุคคลในยุคที่ลูกค้าให้ความสำคัญกับความน่าเชื่อถือมากกว่าเพียงสินค้าหรือบริการ องค์กรที่สามารถขับเคลื่อน Privacy อย่างเป็นระบบ ย่อมเป็นองค์กรที่ได้เปรียบในเชิงความไว้วางใจและการเติบโตในระยะยาว
แหล่งที่มา: สรุปรายงานโครงการการประเมินระดับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล Privacy Maturity Model และโครงการจัดทำหลักเกณฑ์ดัชนีชี้วัดการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล Privacy Index
https://www.pdpc.or.th/10073/
แชร์ความเห็นของคุณ! 💬
🔥 อย่ารอให้กฎหมายหรือวิกฤตความเชื่อมั่นมาเป็นตัวเร่ง!
PMM คือแนวทางสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรของคุณประเมินความพร้อมด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเป็นระบบ พร้อมยกระดับสู่มาตรฐานสากล
หากวันนี้องค์กรของคุณยังไม่มี Framework รองรับ PDPA หรือ GDPR — นี่คือเวลาที่ใช่ในการเริ่มต้น!
📩 คอมเมนต์ด้านล่างหรือแชร์บทความนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดด้าน Data Privacy กับผู้นำคนอื่น ๆ
📞 สนใจข้อมูล/บริการเพิ่มเติมติดต่อ: 02-247-7229
📧 e-Mail: sm@merlinssolutions.com
No Comments